
คู่มือโตเกียวของฉัน
เมื่อพบหน้าเพจที่สนใจ กรุณาคลิกที่เครื่องหมายหัวใจเพื่อบันทึกไว้เป็น "ประวัติการเข้าชมของฉัน" กัน
เนื้อหาหลักเริ่มที่นี่
Updated: January 26, 2023
ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในเรื่องเครือข่ายทางรถไฟที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รถไฟใต้ดินเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน เส้นทางรถไฟใต้ดินของโตเกียวมีมากกว่า 280 สถานี และครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในโตเกียว จึงสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายไม่ว่าจะไปที่ไหน แผนที่เส้นทางรถไฟใต้ดินที่ใช้สีจำแนกสายรถไฟได้อย่างเข้าใจง่ายคือคู่มือท่องเที่ยวอันแสนสะดวก และเพราะมีป้ายหลายภาษาทั้งในสถานีและรถไฟ จึงสามารถใช้บริการรถไฟใต้ดินได้อย่างง่ายดายในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน รถไฟโตเกียวเมโทรและโทเอทรานสปอร์ตเทชั่น มีตั๋วลดราคาหลากหลายแบบให้เลือก จึงสามารถประหยัดเงินได้ในกรณีที่ใช้บริการรถไฟใต้ดินหลายครั้งใน 1 วัน หรือไม่ก็คงจะดีเช่นกันหากมี IC Card แบบเติมเงินได้ แล้วใช้เข้าออกช่องตรวจตั๋ว รวมถึงเติมเงินในตอนเปลี่ยนรถไฟเหมือนคนท้องถิ่น
*บริษัทรถไฟแต่ละแห่งในเมืองรวมถึง JR East อาจมีกรณีที่เลื่อนเวลาของรถไฟเที่ยวสุดท้ายให้เร็วขึ้นชั่วคราว กรุณาตรวจสอบข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ทางการ
รถไฟโตเกียวเมโทรคือบริษัทดำเนินการรถไฟใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในบรรดารถไฟใต้ดินทั้งหมด โดยเป็นเจ้าของเส้นทางรถไฟ 9 เส้นทาง ระหว่างสถานี 179 สถานีและครอบคลุมรางรถไฟยาวถึง 195 กิโลเมตร! รถไฟโตเกียวเมโทรมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 7.6 ล้านคนต่อวัน ถือเป็นวิธีเดินทางที่มีความสำคัญสำหรับการเดินทางในเมืองหลวงตั้งแต่จากชานเมืองแถบตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียวข้ามแม่น้ำซูมิดะไปจนถึงย่านแถบตะวันออก และเนื่องจากมีหลายเส้นทางเชื่อมต่อโดยตรงกับทางรถไฟอื่น จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นลงรถไฟทุกครั้งในการเปลี่ยนสายรถไฟ
บริษัทรถไฟใต้ดินหลักอีกแห่งหนึ่งคือโทเอทรานสปอร์ตเทชั่น โดยมีรถไฟ 4 สายคือสายอาซากุสะ สายมิตะ สายชินจูกุ และสายโอเอโดะ ครอบคลุม 106 สถานี ในปี 2018 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 2.82 ล้านคนต่อวัน ถือเป็นเครือข่ายเขตมหานครขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญอีกเครือข่ายหนึ่ง เส้นทางรถไฟสายโอเอโดะถูกสร้างในรูปแบบวนรอบพื้นที่เมืองหลวง ส่วนสายอาซากุสะเชื่อมต่อโดยตรงกับสายรถไฟอื่น และสามารถไปถึงสนามบินนาริตะและสนามบินฮาเนดะได้
เส้นทางรถไฟของบริษัทรถไฟมากมายให้บริการรถไฟในทุกพื้นที่ของโตเกียว โดยจำเป็นจะต้องซื้อตั๋วเฉพาะจากเครื่องจำหน่ายตั๋วที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ช่องตรวจตั๋วของแต่ละบริษัทรถไฟ รถไฟสายเคโอมุ่งหน้าไปยังเส้นทางเดินเขาของภูเขาทาคาโอะที่อยู่ฝั่งตะวันตก และเชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟโทเอสายชินจูกุ
สำหรับสายโอดะคิวนั้นเชื่อมไปถึงฮาโกเนะ เมืองอนเซ็นที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ รวมถึงเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดินสายจิโยดะอย่างสะดวกสบายด้วย
การขึ้นรถไฟใต้ดินของโตเกียวมีอยู่หลากหลายวิธี โดยสามารถซื้อตั๋วเที่ยวเดียวจากเครื่องจำหน่ายตั๋วที่รองรับหลายภาษาซึ่งตั้งอยู่ในทุกสถานี หรือจะใช้ IC Card แบบเติมเงินในการเข้าออกช่องตรวจตั๋วก็ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ รถไฟโตเกียวเมโทรและโทเอทรานสปอร์ตเทชั่นยังร่วมมือกันให้บริการตั๋วรถไฟใต้ดินร่วมสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะประหยัดเงินแล้วก็ยังสะดวกมากด้วย อนึ่ง เนื่องจากรถไฟใต้ดินของโตเกียวไม่ได้ดำเนินการโดย JR (Japan Rail) จึงใช้ตั๋วของ JR ไม่ได้ ขอให้ระวังในจุดนี้ด้วย
ถ้ามีกำหนดการใช้บริการรถไฟใต้ดินหลายครั้งในช่วงหลายวัน ขอแนะนำให้ซื้อตั๋วที่ขึ้นรถไฟใต้ดินได้ทุกสายแบบไม่จำกัดเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งมีให้เลือก 3 แบบคือ แบบ 24 ชั่วโมง แบบ 48 ชั่วโมง และแบบ 72 ชั่วโมง โดยนอกจากช่องจำหน่ายตั๋วของรถไฟโตเกียวเมโทรและจุดบริการข้อมูลการท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งแล้ว ก็ยังซื้อจากโรงแรม ร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น BicCamera และจุดบริการข้อมูลการท่องเที่ยวที่อยู่ในแต่ละท้องที่ของโตเกียวได้ด้วย และในการซื้อจำเป็นต้องโชว์พาสปอร์ตเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ตั๋วเที่ยวเดียวทั่วไปสามารถซื้อได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วที่รองรับหลายภาษาซึ่งตั้งอยู่ในทุกสถานีของรถไฟใต้ดิน สำหรับค่าโดยสารจะกำหนดจากระยะการเดินทาง ไม่ได้กำหนดจากสถานีหรือเส้นทางที่ใช้บริการ เนื่องจากรถไฟโตเกียวเมโทรและโทเอทรานสปอร์ตเทชั่นเป็นคนละบริษัทกัน ตั๋วจึงแตกต่างกันไป
ตั๋วของรถไฟโตเกียวเมโทรจะเริ่มตั้งแต่ 170 เยน - 320 เยน โดยคิดตามระยะการเดินทาง ส่วนค่าโดยสารของโทเอทรานสปอร์ตเทชั่นจะราคาสูงกว่าเล็กน้อย คืออยู่ในช่วง 180 เยน - 430 เยน
สำหรับการเข้าไปในรถไฟใต้ดิน ให้สอดตั๋วเข้าไปในช่องตรวจตั๋วที่มีช่องเสียบสีเหลืองและให้รับตั๋วที่จะออกมาจากฝั่งตรงข้ามในตอนที่เดินผ่านเข้าไป เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ตอนออกจากช่องตรวจตั๋วของสถานีที่ลงรถ ระหว่างการเดินทางจึงควรเก็บตั๋วเอาไว้ให้ดี!
ในโตเกียว มี IC Card แบบเติมเงินหลักๆ อยู่ 2 ประเภท คือ Suica กับ Pasmo สิ่งเดียวที่ต่างกันคือบริษัทที่ออกบัตรและการออกแบบ บัตรนี้ซื้อได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วที่สถานีโดยจ่ายเงินมัดจำ (Deposit) ซึ่งสามารถขอคืนภายหลังได้ 500 เยน และจากตู้นั้นยังสามารถเติมเงินด้วยการใส่เงินเพิ่มได้ด้วย
การใช้บัตรนี้ เพียงแค่แตะบัตรกับช่องตรวจตั๋วอัตโนมัติก็จะเข้าออกได้ จึงสามารถเดินทางได้อย่างราบรื่นมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถใช้กับที่อื่นนอกเหนือจากสถานีได้ด้วย เช่น ใช้ชำระเงินค่าสินค้าที่ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและร้านสะดวกซื้อ เรียกได้ว่าสะดวกมาก!
เพื่อการเดินทางที่ราบรื่นยิ่งขึ้น ขอแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันของรถไฟโตเกียวเมโทร Multimodal Door-to-door Route Search (Navitime) เป็นแอปพลิเคชันครบวงจรที่เตรียมข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ตั้งแต่สถานที่รับประทานอาหารไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อค้นหาสถานที่ที่สนใจจากบนแผนที่ แอปพลิเคชันก็จะแสดงวิธีการเดินทางไปยังสถานที่นั้นให้ รวมถึงมีฟังก์ชันแนะนำตั๋วที่จำเป็นสำหรับเส้นทางนั้นโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่มีตั๋วอยู่แล้ว พอกรอกข้อมูลนั้นลงไป แอปพลิเคชันก็จะแสดงเส้นทางอื่นโดยอ้างอิงตามข้อมูลนั้นและปรับเปลี่ยนค่าโดยสารให้ อีกทั้งยังแนะนำเว็บไซต์ที่สามารถซื้อตั๋วสถานที่ยอดนิยมในโตเกียวให้ด้วย
ในกรณีที่อยากตรวจสอบวิธีเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B แบบง่ายๆ Tokyo Subway Transit Search เป็นแอปพลิเคชันที่สะดวก โดยจะค้นหาเส้นทางและทำไฮไลต์ให้มองเห็นเส้นทางนั้นได้ง่ายบนแผนที่รถไฟใต้ดิน รวมถึงแสดงข้อมูลค่าโดยสารและจุดให้บริการ Wi-Fi ฟรีด้วย
โดยทั่วไปรถไฟจะให้บริการตั้งแต่ 05:00 น. – 24:00 น. ควรตรวจสอบเส้นทางที่จะใช้บริการด้วยแอปพลิเคชัน Tokyo Subway Transit Search หรือ Multimodal Door-to-door Route Search (Navitime) ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ หรือตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ต
สำหรับเรื่องเกี่ยวกับโอชิยะมืออาชีพ (pushers) นั้น อาจจะเคยได้ยินหรือเคยเห็นคลิปกันมาบ้างแล้ว โดยพวกเขาคือเจ้าหน้าที่สถานีสวมถุงมือสีขาวที่ได้รับภารกิจดันผู้โดยสารให้เข้าไปในรถไฟซึ่งมีคนอยู่อย่างแออัด พวกเขาจะตรวจสอบว่าประตูปิดแล้วหรือยัง และคอยระมัดระวังเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปตามเวลาที่กำหนด ยินดีต้อนรับสู่ชั่วโมงเร่งด่วนของโตเกียว โดยเวลานั้นจะตรงกับช่วง 07:30 น. - 09:30 น. และ 17:30 น. - 19:30 น. แต่ในช่วงเช้าจะมีคนอัดแน่นมากเป็นพิเศษ หากไม่ชอบฝูงชนหรือมีสัมภาระขนาดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนนี้ดีกว่า
มาวางแผนว่าต่อไปจะไปรับประทานอาหารอร่อยๆ ที่ไหน หรือไม่ก็ส่งรูปถ่ายไปให้เพื่อนๆ ที่ประเทศได้อิจฉากัน รถไฟโตเกียวเมโทรจัดให้มีบริการ Wi-Fi ฟรีในเกือบทุกสถานี รวมถึงหลายสถานีของโทเอทรานสปอร์ตเทชั่นเองก็สามารถใช้ได้เช่นกัน โดยเลือก “Metro_Free_Wi-Fi” หรือ “Toei_Subway_Free_Wi-Fi” และทำตามคำแนะนำก็จะสามารถเชื่อมต่อได้อย่างง่ายดาย