ประวัติการเข้าชมของฉัน

คู่มือโตเกียวของฉัน

เมื่อพบหน้าเพจที่สนใจ กรุณาคลิกที่เครื่องหมายหัวใจเพื่อบันทึกไว้เป็น "ประวัติการเข้าชมของฉัน" กัน

เนื้อหาหลักเริ่มที่นี่

Updated: February 28, 2022

ประวัติศาสตร์อันเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาของสะพานนิฮงบาชิ

สะพานนิฮงบาชิซึ่งเป็นสะพานอันเป็นที่มาของชื่อสถานที่นิฮงบาชิ เขตจูโอ โตเกียว เป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิตของเมืองนี้มานานตั้งแต่สมัยเอโดะ (1603–1867) ซึ่งในสมัยนั้นโตเกียวยังมีชื่อเรียกว่าเอโดะ ในภาพม้วนอันยิ่งใหญ่งดงามที่วาดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 19 มีการบันทึกภาพบรรยากาศที่บ่งบอกสัญลักษณ์ของย่านแห่งนี้ที่มีร้านค้าต่างๆ มากมาย ตั้งแต่บริเวณริมน้ำที่มีชีวิตชีวาและร้านค้าส่งอันคึกคัก

จุดเด่น

  • ที่กำแพงของโถงทางเดินสถานีมิตสึโคชิมาเอะ รถไฟโตเกียวเมโทรมีการจัดแสดงภาพเขียนจำลองขนาดใหญ่ลักษณะภาพม้วนที่เรียกว่า "คิได โชรัน (Kidai Shoran)"
  • หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพม้วน โปรดดูที่เว็บไซต์แนะนำนิฮงบาชิ “คิได โชรัน”
  • หากต้องการเพลิดเพลินในย่านนิฮงบาชิซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางเดินน้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะขอแนะนำการล่องเรือสำราญที่อยู่ละแวกนั้น
  • มาเยี่ยมชมจุดบริการข้อมูลการท่องเที่ยวนิฮงบาชิ แล้วรับแผ่นพับข้อมูลและของที่ระลึกกันเถอะ

 

"คิได โชรัน (Kidai Shoran)": วิถีชีวิตของผู้คนและบ้านเรือนที่เรียงรายในโตเกียวยุคเอโดะ (1603–1867)

 

"คิได โชรัน" (บางส่วน) © Staatliche Museen zu Berlin, Museum für Asiatische Kunst (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเบอร์ลิน),
former collection of Hans-Joachim and Inge Küster, gift of Manfred Bohms 2002, photography: Tadao Kodaira
ภาพวาดขนาดใหญ่ที่วาดจากมุมสูงของสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้น

ภาพม้วนนี้ที่ได้รับการขนานนามว่า "คิได โชรัน" (หมายถึง ภูมิทัศน์ที่ล้ำเลิศของรัชสมัยอันรุ่งโรจน์) เป็นผลงานจิตรกรรมที่มีความยาวทั้งหมดกว่า 12 เมตร ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมบนถนนที่มีชีวิตชีวาที่สุดในเอโดะ สิ่งที่ได้รับการวาดไว้คือย่านร้านค้าตั้งแต่สะพานของอิมากาวะบาชิต่อเนื่องไปจนถึงสะพานนิฮงบาชิ คาดกันว่าเป็นผลงานของจิตรกรชื่อดัง แต่ยังไม่ทราบในรายละเอียด
ในภาพมีผู้คนกว่า 1671 คนจากทุกชนชั้น ทั้งซามูไร พ่อค้า เด็กที่ไปโรงเรียนวัด นักแสดง เกอิชา และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีสุนัข 20 ตัว ม้า 13 ตัว เหยี่ยว 2 ตัว วัว 4 ตัว และลิง 1 ตัว ร้านค้าที่ได้รับการวาดไว้ เช่น ร้านกิโมโน ร้านมีดญี่ปุ่น ร้านหนังสือ ร้านโซบะ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านน้ำชา และแผงลอยขายซูชิ รวมถึงสภาพเดิมของห้างสรรพสินค้าหรูหราในปัจจุบันด้วย
เป็นที่น่าเสียดายที่พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่ถูกไฟไหม้จากอัคคีภัยครั้งใหญ่สมัยบุงกะในปี 1806 ไฟไหม้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากจนถูกเรียกว่า "ดอกไม้แห่งเอโดะ (flowers of Edo)" และการฟื้นฟูใหม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ภาพม้วนนี้เป็นบันทึกที่สำคัญในขณะนั้นที่ยังหลงเหลืออยู่
ในปี 2009 มีการจัดทำภาพจำลองความยาว 17 เมตร และติดตั้งบนกำแพงของโถงทางเดินใต้ดินของสถานีมิตสึโคชิมาเอะ รถไฟโตเกียวเมโทร และมีติดตั้งแผงป้ายคำอธิบาย (ภาษาญี่ปุ่น) เกี่ยวกับผู้คน อาคารสถานที่ อาชีพ และวัฒนธรรมในสมัยเอโดะที่ปรากฎในภาพม้วนอยู่ด้วยกัน คำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษสามารถดูได้ที่หน้าเว็บเพจแนะนำนิฮงบาชิ “คิได โชรัน”

ต้นฉบับของภาพม้วน “คิได โชรัน” ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเบอร์ลิน

 

สะพานนิฮงบาชิที่มีความสัมพันธ์กับภูมิภาคต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น

 

ศูนย์กลางการค้าสมัยเอโดะ (1603-1867)

สะพานของนิฮงบาชิทอดข้ามแม่น้ำนิฮงบาชิ ซึ่งไหลแยกออกจากแม่น้ำคันดะที่เชื่อมต่อกับทะเล ละแวกนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางบกและทางทะเลในญี่ปุ่น และระยะทางไปยังภูมิภาคและเมืองใหญ่ๆ เช่น เกียวโต ฯลฯ ทั้งหมด ก็วัดเริ่มจากสะพานแห่งนี้ ท่าเทียบเรือที่มีการจราจรแสนสะดวกซึ่งมีชาวประมงและบริษัทขนส่งมารวมตัวกันมากมายนั้น ได้รับการใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ขายส่งสินค้าต่างๆ ส่งไปยังผู้คนกว่า 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเอโดะในสมัยนั้น
ใน "คิได โชรัน" (ภาพซ้ายล่าง) ยังมีภาพเหตุการณ์การขนปลาที่จับได้ใกล้ชายฝั่งทะเล ลงจากเรือความเร็วสูงขึ้นบนบก วาดไว้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน นิฮงบาชิเป็นที่รู้จักในฐานะย่านธุรกิจและห้างสรรพสินค้า และท่าเทียบเรือนิฮงบาชิยังเป็นท่าเรือต้นทางของเรือท่องเที่ยวชมสถานที่เลียบแม่น้ำซูมิดะและแม่น้ำคันดะซึ่งสามารถเพลิดเพลินกับเมืองริมน้ำได้ (ภาพขวาล่าง)


"คิได โชรัน" (บางส่วน) © Staatliche Museen zu Berlin, Museum für Asiatische Kunst (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเบอร์ลิน),
former collection of Hans-Joachim and Inge Küster, gift of Manfred Bohms 2002, photography: Tadao Kodaira

 

ประวัติศาสตร์อันยาวนานในการจัดหาปลาสดสมัยเอโดะ
ตลาดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา สัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณเอโดะ

ก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตในปี 1923 ที่สะพานนิฮงบาชิมีตลาดปลาริมแม่น้ำเก่าแก่ที่เป็นแหล่งค้ำจุนอาหารการกินแก่ผู้คนชาวเอโดะ หลังเกิดแผ่นดินไหว ตลาดปลาแห่งนี้ได้ย้ายไปที่สึกิจิ จากนั้นก็ย้ายไปที่โทโยสุจนกระทั่งปัจจุบัน ในภาพทิวทัศน์ตลาดปลาริมแม่น้ำของ "คิได โชรัน" (ภาพซ้ายล่าง) มีการวาดภาพที่แสดงให้เห็นเหตุการณ์ที่เหล่าผู้ชายแบกตะกร้าใส่ปลาที่จับได้ใหม่ๆ ขึ้นบก และสภาพร้านขายปลาสดที่แผงลอยเล็กๆ ด้วย
ในย่านนิฮงบาชิ ทุกวันนี้ก็ยังมีร้านค้ามากมายที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เช่น ร้าน "นินเบ็น" ซึ่งเป็นร้านขายปลาคัตสึโอะตากแห้งและน้ำซุปโดยเฉพาะ ซึ่งก่อตั้งในปี 1699 ตามรูปภาพขวาล่าง


"คิได โชรัน" (บางส่วน) © Staatliche Museen zu Berlin, Museum für Asiatische Kunst (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเบอร์ลิน),
former collection of Hans-Joachim and Inge Küster, gift of Manfred Bohms 2002, photography: Tadao Kodaira

 

ร้านอาหารยอดนิยม และ "อาหารจานด่วน" ดั้งเดิม
นิฮงบาชิ เมืองแห่งอาหารทั้งอดีตและปัจจุบัน

ในภาพม้วน มีการวาดภาพร้านอาหารตามถนนสายหลักไว้มากมาย หนึ่งในนั้นมีภาพของร้านที่เปิดตั้งไว้ชั่วคราวข้างทาง และร้านแผงลอยที่ได้รับความนิยมในการจำหน่าย "อาหารจานด่วน" ด้วย ในฉากของภาพซ้ายล่าง มีลวดลายคล้ายตารางหมากรุกสีครามและสีขาวบนหลังคาแผงลอย แสดงให้เห็นว่าร้านนี้เป็นร้านน้ำชา (คาเฟ่กลางแจ้งในปัจจุบันในแบบฉบับสมัยเอโดะ)
ที่นิฮงบาชิ ยังมีร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารแบบดั้งเดิมหลงเหลืออยู่มากมาย เช่น โซบะ ปลาไหล เทมปุระ ฯลฯ ซึ่งเปิดกิจการมายาวนาน โดยร้านเทมปุระชื่อ "เทนโมะ" (ก่อตั้งในสมัยเมจิ) ในรูปภาพขวาล่างก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน


"คิได โชรัน" (บางส่วน) © Staatliche Museen zu Berlin, Museum für Asiatische Kunst (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเบอร์ลิน),
former collection of Hans-Joachim and Inge Küster, gift of Manfred Bohms 2002, photography: Tadao Kodaira

 

ผู้คนในเอโดะไวต่อข้อมูลข่าวสาร
นิฮงบาชิ แหล่งข้อมูลข่าวสารตั้งแต่ข่าวทั่วไปจนถึงเรื่องซุบซิบ

นิฮงบาชิเป็นศูนย์กลางของข้อมูลหลากหลายด้าน ทั้งสำหรับผู้คนในเอโดะและเผยแพร่ไปทั่วประเทศอีกด้วย ร้านหนังสือและสำนักพิมพ์เคยอยู่บนถนนสายหลัก ประกาศสาธารณะต่างๆ จะติดไว้ที่สถานที่ติดประกาศตามท้องถนน โยมิอุริมักจะเดินขายสิ่งพิมพ์ข่าวสารบ้านเมืองพร้อมกับอ่านข่าวล่าสุดให้ฟัง ใน "คิได โชรัน" มีการวาดภาพม้าเร็วซึ่งเป็นต้นกำเนิดของบริการไปรษณีย์สมัยใหม่ (ภาพซ้ายล่าง) ในการส่งจดหมาย พัสดุ และสินค้า อีกด้วย
นิฮงบาชิซึ่งเป็นที่ก่อตั้งกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมในยุคแรกและที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกในญี่ปุ่น (ภาพขวาล่าง) ในปี 1871 จึงอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งกำเนิดของธุรกิจไปรษณีย์ในปัจจุบัน


"คิได โชรัน" (บางส่วน) © Staatliche Museen zu Berlin, Museum für Asiatische Kunst (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเบอร์ลิน),
former collection of Hans-Joachim and Inge Küster, gift of Manfred Bohms 2002, photography: Tadao Kodaira

 

การดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนในสมัยเอโดะ
สังคมระบบนิเวศที่มีของเปล่าประโยชน์เพียงเล็กน้อย

หากพิจารณาจากมาตรฐานในปัจจุบัน ญี่ปุ่นในสมัยเอโดะถือเป็นสังคมที่ยั่งยืน สิ่งของที่ถูกทิ้งไม่ค่อยมี และสิ่งของส่วนใหญ่ทั้งเสื้อผ้า เครื่องมือเครื่องใช้ และสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ มีการนำมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ สำหรับเรื่องนี้ใน "คิได โชรัน" ก็ได้มีการวาดภาพชายคนหนึ่งกำลังชั่งน้ำหนักเศษกระดาษเพื่อรับซื้อ (ภาพซ้ายล่าง) เศษกระดาษเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิลและกลายเป็นกระดาษใหม่ เพื่อใช้เป็นกระดาษชำระและอื่นๆ
ปัจจุบันจิตวิญญาณของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนยังคงมีอยู่ในนิฮงบาชิ ยกตัวอย่างเช่น "ร้านคิยะ" (ภาพขวาล่าง) ซึ่งเป็นร้านมีดที่จำหน่ายมีดทำครัวซึ่งเมื่อทำการลับมีดแล้วก็สามารถใช้ได้นานตลอดไป และ Kanako Designs ที่ยังคงปฎิบัติตามขนบธรรมเนียมสมัยเอโดะในการเลาะกิโมโนแล้วนำผ้ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่


"คิได โชรัน" (บางส่วน) © Staatliche Museen zu Berlin, Museum für Asiatische Kunst (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเบอร์ลิน),
former collection of Hans-Joachim and Inge Küster, gift of Manfred Bohms 2002, photography: Tadao Kodaira

 

เพลิดเพลินกับอดีตและปัจจุบันของนิฮงบาชิ

 

ถนนด้านหน้าที่มีร้านค้าเรียงรายซึ่งได้รับการวาดไว้ใน "คิได โชรัน" เป็นถนนใหญ่สายหลักที่ตัดผ่านใจกลางย่านนิฮงบาชิ (ภาพบน) ข้อมูลการท่องเที่ยวมีแนะนำที่จุดบริการข้อมูลการท่องเที่ยวนิฮงบาชิ (มีเจ้าหน้าที่รองรับได้หลายภาษา นอกจากแผ่นพับยังสามารถขอข้อมูลเกี่ยวกับการล่องเรือสำราญและการช้อปปิ้งได้ และสามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้โดยไม่เสียค่าบริการ) และเว็บไซต์ต่อไปนี้

รวมลิงค์ข้อมูลที่จะช่วยให้เพลิดเพลินกับทิวทัศน์เมืองของย่านนิฮงบาชิได้อย่างง่ายดาย

ข้อมูลการท่องเที่ยวนิฮงบาชิ

จุดบริการข้อมูลการท่องเที่ยว

รถบัสวิ่งวนรอบนิฮงบาชิไม่เสียค่าบริการ

ข้อมูลที่พัก

 

 

ลิงก์อ้างอิง

บทความเกี่ยวกับบริเวณริมน้ำ