ประวัติการเข้าชมของฉัน

คู่มือโตเกียวของฉัน

เมื่อพบหน้าเพจที่สนใจ กรุณาคลิกที่เครื่องหมายหัวใจเพื่อบันทึกไว้เป็น "ประวัติการเข้าชมของฉัน" กัน

เนื้อหาหลักเริ่มที่นี่

Updated: November 5, 2019

สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ค้นหาสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงของโตเกียวจากสถาปนิก 4 คน

ออกเดินทางไปสัมผัสกับโลกแห่งสถาปัตยกรรมของเหล่าปรมาจารย์ผู้มากฝีมือ ที่จะปลุกเซนส์แห่งศิลปะอันงดงามให้ตื่นขึ้นในมหานครโตเกียว จากสถาปนิกทั้ง 4 คนที่มีชื่อเสียงระดับโลก เคนโซ ทันเกะ, คิโช คุโรกาวะ, ทาดาโอะ อันโด และเคนโกะ คุมะ

เคนโซ ทันเกะ

ภาพถ่ายโดย : โคอิจิ ไซโต

เคนโซ ทันเกะ (1913-2005) เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกจากผลงานที่หลอมรวมสไตล์ของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้ากับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของยุโรปตะวันตก จนได้รับการขนานนามว่า “ทันเกะ สถาปนิกของโลก” ไม่เพียงแต่เป็นสถาปนิกเท่านั้น แต่ยังวางแผนและดำเนินกิจกรรมในฐานะนักผังเมืองให้กับเมืองใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเพื่อนกับศิลปินอย่าง เก็นอิจิโร อิโนคุมะ, ทาโระ โอกาโมโตะ รวมไปถึงสถาปนิกต่างประเทศ เช่น เลอกอร์บูซีเย ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งใน “3 ปรมาจารย์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่”, ฟิลิป จอห์นสัน, ออสการ์ นีเอไมเยร์ มีการจัดโครงการที่ระลึกต่างๆ ขึ้นในปี 2013 เนื่องในวาระครบรอบวันเกิด 100 ปี ที่โตเกียวมีสถาปัตยกรรมของทันเกะเป็นจำนวนมาก เช่น สนามกีฬาแห่งชาติโยโยงิ, โบสถ์เซกิกุจิเซนต์แมรี่โตเกียว, อาคารศาลาว่าการกรุงโตเกียว, อาคารสถานีโทรทัศน์ฟูจิ, อาคารโซเกตสึ และชินจูกุปาร์กทาวเวอร์ เป็นต้น

สนามกีฬาแห่งชาติโยโยงิ

สนามกีฬาที่มีหลังคาโครงสร้างแขวนสลิงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแห่งนี้จะเข้ามาอยู่ในสายตาทันทีที่เดินออกมาจากสถานีฮาราจูกุ สร้างขึ้นในปี 1964 สำหรับโตเกียวโอลิมปิก ปัจจุบันยังใช้จัดงานกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การจัดแข่งขันกีฬาและคอนเสิร์ต

โบสถ์เซนต์แมรี่ โตเกียว

สร้างเสร็จในปี 1964 โครงสร้างที่ประกอบขึ้นจากผนังทรงเปลือกหอย 8 แผ่น เมื่อมองจากบนฟ้าจะเห็นเป็นรูปทรงไม้กางเขน และจะเห็นรูปทรงนั้นหากมองขึ้นไปบนเพดานจากในโบสถ์ ภายในมีความสูงที่สุดประมาณ 40 เมตร มีบรรยากาศที่ดูมีมนตร์ขลัง และที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดพิธีศพของเคนโซ ทันเกะอีกด้วย อยากให้ลองไปสัมผัสสักครั้งกับโบสถ์ที่ไม่ได้มีแต่ความสวยงามของภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีบรรยากาศที่มีมนตร์ขลังอยู่ภายใน

อาคารศาลาว่าการกรุงโตเกียว

สถานีโทรทัศน์ฟูจิ

คิโช คุโรกาวะ

ภาพถ่ายโดย: บริษัท Kisho Kurokawa architect & associates

คิโช คุโรกาวะ (1937-2007) เป็นสถาปนิกผู้ซึ่งสนับสนุนหลักการ “เมแทบอลิซึม” นำเสนอเกี่ยวกับเมืองและสถาปัตยกรรมที่เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประชากร เป็นลูกศิษย์ของเคนโซ ทันเกะ ณ บัณฑิตวิทยาลัยแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และได้รับอิทธิพลจากอาจารย์ของเขาเป็นอย่างมากในการวางแผนผังเมือง ศูนย์จัดแสดงงานศิลปะแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีโนกิซากะได้รับอิทธิพลจากพลังแห่งการเคลื่อนไหวอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ เช่น อาคารนาคากินแคปซูลทาวเวอร์ และอาคารพาณิชย์ที่สามารถไปชมได้อย่าง BIG BOX เป็นต้น มีผลงานสถาปัตยกรรมในต่างประเทศ คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแวนโกะ (เนเธอร์แลนด์), ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย)

ศูนย์จัดแสดงงานศิลปะแห่งชาติ

เปิดอาคารในปี 2007 ภายนอกมีดีไซน์ด้านหน้าที่คดเคี้ยวมากเป็นจุดเด่น นอกจากจะมีการจัดนิทรรศการที่ใช้พื้นที่จัดแสดงใหญ่ที่สุดในประเทศถึง 14,000 ตารางเมตรแล้ว ยังมีบทบาทเป็นศูนย์ศิลปะที่รวบรวมเอกสารและเผยแพร่ความรู้อีกด้วย อยากแนะนำให้ใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจที่คาเฟ่ชั้น 1 ชั้น 2 และร้านอาหารที่ชั้น 3 ซึ่งแสงแดดภายนอกจะส่องเข้าถึงได้อย่างเต็มที่

©The National Art Center, Tokyo

ทาดาโอะ อันโด

Photo by Kinji Kanno

ทาดาโอะ อันโด (1941 - ปัจจุบัน) เป็นสถาปนิกที่นำเสนอรูปแบบใหม่ของสถาปัตยกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายคือ “การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” ศึกษาสถาปัตยกรรมด้วยตนเองหลังจากเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลก และก่อตั้งศูนย์วิจัยสถาปัตยกรรมทาคาโอะ อันโด เคยออกแบบห้างฯ โอโมเตะซันโดฮิลส์และสถานีชิบุยะรถไฟโตคิวสายโทโยโกะ และอยากแนะนำให้ลองแวะไปเยี่ยมชมผลงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ ในโตเกียว เช่น หอสมุดเด็กนานาชาติแห่งชาติ และหอประชุมฟูกูทาเกะ Interfaculty Initiative in Information Studies มหาวิทยาลัยโตเกียว

ห้างสรรพสินค้าโอโมเตะซันโดฮิลส์

เพื่อให้กลมกลืนกับภูมิทัศน์ของโอโมเตะซันโด ความสูงของอาคารจึงถูกจำกัดให้อยู่ระดับเดียวกับแนวต้นเคยากิ พื้นที่พาณิชย์ตั้งแต่ชั้นใต้ดินชั้น 3 ไปจนถึงชั้น 3 ที่อยู่เหนือพื้นดิน เปิดโล่งเชื่อมต่อกัน มีร้านค้าเรียงรายไปตามทางลาดเกลียวที่เข้ากับความลาดเอียงของโอโมเตะซันโด สามารถสัมผัสได้ถึงการแสดงออกเฉพาะตัวของสถาปนิกจากการใช้คอนกรีตเปลือยและรูปทรงเรขาคณิต

Photo by Mitsuo Matsuoka

พิพิธภัณฑ์ 21_21 DESIGN SIGHT

อาคารรูปทรงครีเอทีฟที่มีหลังคาแผ่นเหล็กขนาดใหญ่พับเอียงลงสู่พื้นดิน สอดแทรกความรู้สึกนึกคิดของนักออกแบบ ซึ่งต้องการให้อาคารแห่งนี้เป็นดั่งหน้าตาของญี่ปุ่นที่เหมาะสมที่สุดในการถ่ายทอดความเป็นไปได้ของดีไซน์ใหม่ๆ ไปสู่สายตาชาวโลก

เคนโกะ คุมะ

©The Courier

เคนโกะ คุมะ (1954 – ปัจจุบัน) เป็นที่จับตามองในระดับโลกจากสถาปัตยกรรมที่ใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติและผสมผสานให้เข้ากับท้องถิ่นและสภาพแวดล้อม นอกจากมีผลงานเช่นพิพิธภัณฑ์ศิลปะเนซุซึ่งงดงามเข้ากันได้ดีกับสวนญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นผู้มีส่วนร่วมในสถาปัตยกรรมที่ผู้คนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก เช่น เป็นผู้ออกแบบร่วมในงานก่อสร้างใหม่ของโรงละครคาบูกิ, เป็นผู้ออกแบบภายในส่วนพื้นที่ใช้สอยร่วมของห้างสรรพสินค้า KITTE ที่เปิดในปี 2013 เป็นต้น โดยเฉพาะศาลเจ้าอากากิที่มีกำแพงกระจกอันน่าประทับใจ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองคากูราซากะนั้น น่าจะเป็นผลงานที่แทบจะลบล้างภาพลักษณ์ของศาลเจ้าที่มีมาแต่เดิมเลยทีเดียว

ศูนย์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอาซากุสะ

ปรับปรุงใหม่ในปี 2012 เป็นอาคารแนะนำการท่องเที่ยวของเขตไทโตที่มีความน่าประทับใจจากการประกอบเข้าด้วยกันของกระจกและไม้ สามารถขอรับข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ชั้น 1 ชั้น 2 และสามารถกวาดสายตาชมโตเกียวสกายทรีและทิวทัศน์ของอาซากุสะได้ที่ระเบียงชมวิวชั้น 8 เป็นอาคารที่เปรียบดั่งสัญลักษณ์ของอาซากุสะยุคใหม่

GINZA KABUKIZA(โรงละครคาบูกิ/คาบูกิซ่าทาวเวอร์)

ก่อสร้างใหม่แล้วเสร็จในปี 2013 ภายนอกเป็นแบบสถาปัตยกรรมโมโมยามะ ภายในใช้ประโยชน์จากการออกแบบและวัสดุ มีทั้งแกลเลอรีและร้านค้าที่จะสามารถเพลิดเพลินแม้ไม่ได้ชมละคร “คาบูกิซ่าทาวเวอร์” อาคาร 29 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลัง เป็นอาคารที่สูงที่สุดในเขตกินซ่า

ห้างสรรพสินค้าKITTE

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเนซุ

ศาลเจ้าอากากิ

ลิงก์อ้างอิง

ทำความรู้จัก