ประวัติการเข้าชมของฉัน

คู่มือโตเกียวของฉัน

เมื่อพบหน้าเพจที่สนใจ กรุณาคลิกที่เครื่องหมายหัวใจเพื่อบันทึกไว้เป็น "ประวัติการเข้าชมของฉัน" กัน

เนื้อหาหลักเริ่มที่นี่

Updated: November 13, 2023

แม่น้ำอารากาวะเป็นแม่น้ำซึ่งมีความยาวทั้งหมด 173 กิโลเมตรที่ไหลผ่านจังหวัดไซตามะก่อนไหลลงสู่อ่าวโตเกียว โดยเมื่อรวมกับแม่น้ำโทเนกาวะ ถือเป็นแหล่งน้ำประปาประมาณ 80% ของโตเกียว แม่น้ำสายนี้มีลักษณะตามชื่อ กล่าวคือมักจะล้นเอ่อจนท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่สมัยโบราณ มีความพยายามจัดการเรื่องน้ำท่วมมาตั้งแต่สมัยเอโดะ หลังจากเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 1910 (ปีเมจิที่ 43) ได้มีการสร้างทางระบายน้ำเทียมขึ้นในปี 1911-1924 ซึ่งทางระบายน้ำนั้นก็คือคูระบายน้ำอารากาวะนั่นเอง ในตอนนั้นมีการพิจารณาว่าจะปรับปรุงแม่น้ำซูมิดะซึ่งอยู่บริเวณปลายแม่น้ำอารากาวะ แต่เมื่อคำนึงถึงความสำคัญของการคมนาคมและการขนส่งสินค้าทางเรือในยุคนั้น จึงตัดสินใจใช้แผนการสร้างคูระบายน้ำอารากาวะซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า

โตเกียวเป็นเมืองที่พัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาเส้นทางน้ำ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คูระบายน้ำแห่งนี้ก็ยังคงปกป้องผู้คนและทรัพย์สินที่ปลายแม่น้ำอารากาวะ คูระบายน้ำอารากาวะที่จะมีอายุครบ 100 ปีในปี 2024 กลายเป็นสถานที่ดึงดูดใจของผู้มาเยี่ยมชม มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ณ บริเวณกลางแจ้งซึ่งรายล้อมไปด้วยสายน้ำและสีเขียวขจีกัน

จุดเด่น

  • เปรียบเทียบเสน่ห์แบบเก่าของประตูน้ำสีแดงในอดีต กับประตูน้ำสีฟ้าซึ่งเข้ามาแทนที่ในปัจจุบัน
  • เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อารากาวะจิซุย (amoa) เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสิ่งมีชีวิตในพื้นที่
  • เพลิดเพลินกับการเดินเล่น, ปั่นจักรยาน และบาร์บีคิวที่สวนสาธารณะอารากาวะอิวาบุจิเซกิเรียวคุจิ

ประตูน้ำเก่าอิวาบุจิ (ประตูน้ำสีแดง)

ประตูน้ำเก่าอิวาบุจินั้นสร้างขึ้นโดยใช้ระยะเวลา 8 ปีตั้งแต่ปี 1916-1924 เพื่อเป็นแกนหลักของแผนการควบคุมดูแลเรื่องน้ำท่วม การก่อสร้างได้รับการควบคุมดูแลโดยคุณอาโอยามะ อากิระ ซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อสร้างคลองปานามาด้วย ประตูน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแห่งนี้มีประตูกว้าง 9 เมตร 5 ประตู ติดตั้งอยู่ ณ บริเวณทางแยกระหว่างคูระบายน้ำอารากาวะและทางแม่น้ำเก่า (ปัจจุบันคือแม่น้ำซูมิดะ) เพื่อจำกัดการไหลของน้ำจากแม่น้ำอารากาวะไปยังแม่น้ำซูมิดะ

ประตูน้ำได้รับการทาสีแดงระหว่างปรับปรุงซ่อมแซมในช่วงปี 1950 และเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่นในชื่อ "ประตูน้ำสีแดง" ปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นประตูน้ำอีกต่อไป แต่ได้ถูกแทนที่ด้วยประตูน้ำอิวาบุจิสีฟ้าที่อยู่ปลายแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม ประตูน้ำเก่าอิวาบุจิแห่งนี้ก็ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม

ข้ามสะพานที่อยู่ติดกับประตูน้ำมาเยี่ยมชมพื้นที่สีเขียวบริเวณประตูน้ำอารากาวะสีแดงซึ่งตั้งอยู่บนสันทรายเล็กๆ ที่เรียกว่านากาโนะจิมะ ที่นี่คุณได้จะพบกับประติมากรรม “ยิงดวงจันทร์” ฝีมือคุณอาโอโนะ ทาดาชิซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดศิลปะแม่น้ำอารากาวะเมื่อปี 1996 ประติมากรรมชิ้นนี้ตั้งอยู่โดยมีแม่น้ำไหลผ่านเป็นฉากหลัง ให้ผู้ชมได้นึกถึง “ช่วงเวลาที่สิ่งต่างๆ ที่มีรูปร่างกำลังเลือนหายไป” นอกจากนี้ยังมีแผ่นหินที่ระลึก “การแข่งขันตัดหญ้าทั่วประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งจัดขึ้นบริเวณริมแม่น้ำอารากาวะในช่วงปี 1938-1944 ที่นี่เป็นสถานที่ซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนระหว่างปั่นจักรยานไปตามเส้นทางปั่นจักรยานอารากาวะ

ประตูน้ำอิวาบุจิ (ประตูน้ำสีฟ้า)

ในปี 1973 แผนควบคุมน้ำท่วมของแม่น้ำอารากาวะได้รับการแก้ไข และประตูน้ำเก่าก็ไม่สูงพออีกต่อไป ประตูน้ำอิวาบุจิในปัจจุบันจึงได้รับการสร้างขึ้นที่บริเวณปลายแม่น้ำด้วยความสูง 300 เมตร ประตูระบายน้ำซึ่งสร้างเสร็จในปี 1982 นี้ มีช่องระบายน้ำกว้าง 20 เมตรและสูง 16 เมตรทั้งหมด 3 ช่อง และมีโครงสร้างที่แข็งแรงสามารถรองรับน้ำท่วมใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในรอบ 200 ปีได้ ประตูน้ำแห่งนี้ได้รับชื่อเรียกว่า "ประตูน้ำสีฟ้า" ตามสีที่ทา ประตูน้ำอิวาบุจิแยกแม่น้ำอารากาวะและแม่น้ำซูมิดะออกจากกัน (แยกออกจากแม่น้ำอารากาวะที่อิวาบุจิ) เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำอารากาวะสูงขึ้น ประตูน้ำจะถูกปิดเพื่อป้องกันน้ำท่วมล้นพื้นที่แม่น้ำซูมิดะ ประตูน้ำสามารถทนแรงดันน้ำได้ 1,500 ตัน

พิพิธภัณฑ์อารากาวะจิซุย (amoa)

ที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และธรรมชาติของอารากาวะและบริเวณรอบๆ ได้ พิพิธภัณฑ์อารากาวะจิซุย (amoa) ซึ่งเปิดให้บริการในปี 1998 จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแม่น้ำอารากาวะ, โครงการควบคุมน้ำท่วม และสิ่งมีชีวิตในบริเวณนี้ เปิดให้เข้าชมฟรี

ที่ชั้น 1 มีการจัดแสดงโดยมุ่งเน้นไปที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำอารากาวะโดยมีทั้งแผนที่ทางอากาศ, วิดีโอการล่องเรือ 360 องศา, มุมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และบ่อน้ำกลางแจ้งสำหรับสังเกตสิ่งต่างๆ ชั้น 2 เป็นชั้นที่คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแม่น้ำอารากาวะและมาตรการควบคุมน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีเธียร์เตอร์รูมและพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษอีกด้วย ชั้น 3 มีระเบียงที่มองเห็นแม่น้ำอารากาวะและประตูน้ำอิวาบุจิ รวมถึงคอมมูนิตี้สเปซและห้องสมุดที่คุณสามารถอ่านหนังสือและศึกษาเรื่องต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองกลางแจ้งบริเวณส่วนหนึ่งของแม่น้ำอารากาวะ ซึ่งคุณจะได้เห็นว่าประตูน้ำส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำอย่างไร

สวนสาธารณะอารากาวะอิวาบุจิเซกิเรียวคุจิ

สวนสาธารณะอารากาวะอิวาบุจิเซกิเรียวคุจิเป็นสวนสาธารณะซึ่งสร้างขึ้นริมแม่น้ำอารากาวะ คั่นกลางระหว่างแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำอารากาวะ และแม่น้ำสายย่อยอย่างแม่น้ำชินกาชิกาวะ ผ่อนคลายไปกับการเที่ยวเล่นกลางแจ้ง, ชมทิวทัศน์บริเวณรอบๆ และสัมผัสกับสายลมอันแสนสดชื่นของแม่น้ำภายใต้แสงอาทิตย์

ที่นี่เหมาะสำหรับการเดินเล่นและปั่นจักรยาน และยังมีพื้นที่สำหรับบาร์บีคิวอีกด้วย สามารถชมประตูน้ำสีแดงไปพลางเพลิดเพลินกับรับประทานอาหารได้ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ชมซากุระในฤดูใบไม้ผลิที่มีชื่อเสียงด้วย

ลิงก์อ้างอิง

บทความเกี่ยวกับบริเวณริมน้ำ