ประวัติการเข้าชมของฉัน

คู่มือโตเกียวของฉัน

เมื่อพบหน้าเพจที่สนใจ กรุณาคลิกที่เครื่องหมายหัวใจเพื่อบันทึกไว้เป็น "ประวัติการเข้าชมของฉัน" กัน

เนื้อหาหลักเริ่มที่นี่

Updated: September 30, 2020

อาหารพื้นบ้านที่เป็นที่โปรดปรานต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (ปี 1603-1867)

จะขอแนะนำสินค้าพิเศษประจำท้องถิ่นที่จะทำให้รู้สึกได้ถึงประวัติศาสตร์ของเอโดะและเมนูขึ้นชื่อย่านดาวน์ทาวน์ เริ่มไปตั้งแต่เอโดะมาเอะซูชิ, โซบะ ไปจนถึงมนจายากิและฟุกางาวะเมชิ ตามหมู่เกาะอิซุและหมู่เกาะโอกาซาวาระ ฯลฯ ก็สามารถลิ้มลองสินค้าขึ้นชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะได้ด้วย

ไฮไลท์

  • ที่ร้านอาหารเล็กๆ บางแห่งอาจจะไม่สามารถใช้บัตรเครดิตได้
  • หากต้องการหลีกเลี่ยงการต่อแถวเข้าร้านยอดนิยม ขอแนะนำให้รีบไปก่อนหรือพยายามไปช่วงเวลาที่คนไม่แน่น
  • ไม่นำตะเกียบมาถูกัน จะเป็นการเสียมารยาทต่อร้านค้า

ซูชิ

ในขณะที่ผู้คนที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซูชิถือเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ โตเกียวถือเป็นอันดับหนึ่งที่คุณจะได้เพลิดเพลินไปกับการลิ้มลองซูชิ แน่นอนทั้งด้านรสชาติและรูปลักษณ์ที่น่าชม รวมถึงความเพลิดเพลินในรูปแบบที่มากมายหลากหลาย มาลิ้มลองรูปแบบที่คุณชื่นชอบตั้งแต่นิกิริซูชิไปจนถึงจิราชิซูชิกันเถอะ
รูปแบบดั้งเดิมของ “ซูชิ” เป็นการถนอมอาหารโดยนำเอาอาหารทะเลมาหมักด้วยเกลือกับข้าว โดยจะไม่รับประทานข้าว แต่นับจากที่มีการพัฒนาคิดค้นน้ำส้มสายชูข้าวหมัก จึงได้กลายมารับประทานอาหารทะเลที่ดองด้วยข้าวหมัก ในสมัยเอโดะจะเสิร์ฟซูชิกล่องที่ว่านั้นพร้อมกับโซบะ, เท็มปุระตามร้านแผงลอย และกลายมาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวเอโดะที่ใช้ชีวิตอันเร่งรีบในแต่ละวัน ระหว่างนั้นก็มีเจ้าของร้านแผงลอยบางร้าน ได้เริ่มเสิร์ฟซูชิที่ไม่ใช่แค่ซูชิกล่องเท่านั้น แต่ยังมีการนำเอาเนื้อปลาแล่วางบนโอนิกิริข้าวหมัก แม้ว่า “ข้าวปั้น” ในสมัยนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าทุกวันนี้ 2-3 เท่า แต่กระนั้นก็ยังสามารถรับประทานได้อย่างสบายๆ กว่าซูชิกล่อง จึงทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายในช่วงเวลาอันรวดเร็ว และเนื่องจากเป็นการใช้ปลาอันอุดมสมบูรณ์ที่จับมาจากอ่าวเอโดะ จากนั้นจึงได้เรียกกันว่าเอโดะมาเอะซูชิ

โซบะ

โซบะซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายในช่วงกลางสมัยเอโดะในฐานะจุดเริ่มต้นของฟาสต์ฟู้ดนั้นถือเป็นหนึ่งในอาหารที่เป็นตัวแทนปัจจุบันของโตเกียว การที่มีร้านโซบะขึ้นชื่อจำนวนมากก็เป็นเสน่ห์ของโตเกียวด้วยเช่นกัน มารับประทานกันให้เต็มที่พร้อมกับสัมผัสกลิ่นหอมของแป้งโซบะกันเถอะ
เป็นหนึ่งในอาหารไม่กี่อย่างที่ยอมรับให้ส่งเสียงดังได้ขณะรับประทาน เนื่องจากการซู้ดระหว่างรับประทานนั้นถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้สัมผัสกับกลิ่นหอมของโซบะได้อย่างเต็มที่

มนจายากิ

ความน่าสนุกของมนจายากินั้นก็คือ การที่ได้นำเอาแป้งสาลีละลายน้ำเนียนๆ ผสมกับวัตถุดิบต่างๆ มาผัดบนกระทะแบนด้วยตนเองและรับประทานแบบร้อนๆ ที่สึกิชิมะจะมีมุมมุมหนึ่งที่เรียกกันว่าถนนมนจายากิ ซึ่งมีร้านค้ากว่า 60 ร้านค้าตั้งเรียงกันเป็นแถว มีบางร้านค้าก็เสิร์ฟมนจายากิดั้งเดิมที่นำมาพลิกแพลงเป็นรูปแบบใหม่ๆ ด้วย
ถือกันว่าจุดกำเนิดก็คือ อาหารว่างขนาดกำลังดีที่วางขายอยู่ด้านหน้าของร้านขนมย้อนยุคที่สึกิชิมะในช่วงตอนปลายของสมัยเอโดะ เนื่องจากในยุคที่หาซื้อกระดาษหรืออุปกรณ์คัดลายมือได้ค่อนข้างยาก พวกเด็กๆ จะนำเอาเนื้อแป้งที่ใช้แป้งสาลีละลายด้วยน้ำมาย่างบนแผ่นเหล็ก ขณะเดียวกันก็ใช้ไม้พายเล็กๆ เขียนตัวหนังสือบนเนื้อแป้งเพื่อท่องจำ เลยเรียกกันว่า “โมจิยากิ” แล้วต่อมาก็เพี้ยนมาเป็น “มนจายากิ” นั่นเอง

ฟุกางาวะเมชิ

ฟุกางาวะเมชิเป็นอาหารที่นำเอาพวกหอยลาย, ต้นหอม, เต้าหู้ ฯลฯ มาต้มเคี่ยวกับซุปมิโซะหรือซุปซอสโชยุราดบนข้าวรับประทาน อาหารชนิดนี้ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะของอาหารที่เตรียมไว้สำหรับชาวประมงที่ต้องทำงานอย่างเร่งรีบ ในเขตพื้นที่ฟุกางาวะซึ่งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำซูมิดะที่ซึ่งงานเก็บหอยมีความรุ่งเรืองในสมัยเอโดะ มีบางร้านที่เสิร์ฟข้าวอบหอยลายในชื่อของฟุกางาวะเมชิด้วย

โดโจนาเบะและยานางาวะนาเบะ

โดโจนาเบะ เป็นอาหารที่นำเอาปลาโดโจมาเรียงให้เต็มหม้อไฟก้นตื้น ใส่ซุปต้มเคี่ยว รับประทานพร้อมกับต้นหอมซอย ส่วนยานางาวะเองก็เป็นเมนูประเภทต้มหม้อไฟที่ทำจากปลาโดโจด้วยเช่นกัน แต่เป็นการนำเอาปลาโดโจผ่าหลังใส่ในน้ำซุปพร้อมกับรากโกโบ ราดด้วยไข่ที่ตีเข้ากันแล้วปรุงรส ปลาโดโจนั้นถือเป็นวัตถุดิบที่มีการนำมาใช้ปรุงอาหารญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเอโดะ

จังโกะนาเบะ

ในจังโกะนาเบะซึ่งมีคุณค่าทางสารอาหารสูง และขาดไม่ได้สำหรับการบ่มเพาะร่างกายของนักซูโม่นั้น พร้อมไปด้วยวัตถุดิบอาหารอย่างเนื้อ ปลา และผักแน่นๆ ที่โตเกียวนั้นมีร้านจังโกะโดยเฉพาะที่เปิดโดยอดีตนักกีฬาซูโม่จำนวนหลายแห่ง เชิญแวะมาลิ้มลองรสชาติของจริงกันให้ได้

อาหารเกาะ

ที่หมู่เกาะอิซุและหมู่เกาะโอกาซาวาระซึ่งสามารถลิ้มรสปลาสดๆ ใหม่ๆ ได้นั้น จะได้ลิ้มลองอาหารเมนูปลาที่หารับประทานได้ที่เกาะเท่านั้น ชิมะซูชิที่เอาปลาสดๆ ซึ่งจับได้ตามเลียบชายฝั่งของเกาะมาดองซอสโชยุทำเป็นหน้าซูชินั้นก็โด่งดังขึ้นชื่อ รับประทานด้วยข้าวซูชิที่ออกรสหวานเล็กน้อยจากน้ำตาล อีกทั้งการรับประทานโดยไม่ได้จิ้มวาซาบิ แต่จิ้มมัสตาร์ดแทนนั้นถือเป็นวิธีรับประทานตามแบบของชาวเกาะ

ชิมะซูชิคือซูชิที่ทำจากปลาที่จับได้จากทะเลใกล้ๆ เกาะ โดยจะนำปลาไปดองกับโชยุเพื่อรักษาเครื่องปรุงท่ามกลางอากาศร้อน (เป็นการเตรียมการขั้นต้นก่อนปรุงอาหารโดยการดองเรียกว่า “ซึเกะ”) ส่วนข้าวจะปรุงรสให้หวานและใส่น้ำส้มสายชูเข้มกว่าข้าวหมักน้ำส้มสายชูมาตรฐานเล็กน้อย สำหรับวาซาบิที่หาได้ยากบนเกาะจะใช้มัสตาร์ด “คาราชิ” หรือ พริก “โทงาราชิ” แทน

ปลาไหลย่าง

การย่างปลาไหลนั้น ที่คันโตกับคันไซจะมีวิธีการปรุงรสที่แตกต่างกัน ที่คันโตนั้นจะผ่าหลังและแล่แบ่งเนื้อออกเป็นสองส่วน ย่างแบบไม่ใส่อะไรเลยก่อนแล้วนำไปนึ่ง จากนั้นจึงย่างโดยทาซอส มีตำนานหนึ่งกล่าวว่า ที่คันโตซึ่งใช้วัฒนธรรมของซามูไรนั้น เนื่องจากการผ่าท้องจะหมายถึง “การคว้านท้องเพื่อฆ่าตัวตาย” ดังนั้น การผ่าท้องจึงถือว่าเป็นลางร้าย

ผลิตภัณฑ์พิเศษในท้องถิ่น

สึกูดานิ

สึกูดานิคืออาหารที่นำพวกปลาเล็ก หอย สาหร่าย ฯลฯ ไปต้มเคี่ยวกับโชยุ เหล้าหวานมิริน และน้ำตาล ฯลฯ จนเปื่อย ความเค็มและความหวานจะทำให้สึกูดานิเป็นที่ชื่นชอบในฐานะกับข้าวที่สามารถเก็บรักษาไว้ในห้องครัวญี่ปุ่นได้มาตั้งแต่สมัยเอโดะ สึกูดานิมักจะนำมารับประทานกับข้าวปั้น (rice ball) หรือโอจาซูเกะ (อาหารประเภทข้าวที่ใส่ชาเขียวหรือซุปดาชิลงไป) ชื่อนี้ได้มาจาก สึกูดาจิมะ (ปัจจุบันอยู่ในโซนสึกูดะ เขตจูโอ) เมืองของเอโดะและเคยเป็นศูนย์กลางของการประมง

ฟูกูจินซูเกะ

ฟูกูจินซูเกะเป็นผักดอง (ผักที่ดองด้วยเกลือหรือน้ำส้มสายชู) ประเภทหนึ่ง ผู้พัฒนาฟูกูจินซูเกะคือเจ้าของร้านเครื่องเคียงที่อยู่ใกล้ศาลเจ้าที่บวงสรวงเทพเจ้าชื่อเบ็นเต็นในโซนยานากะ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเขตไทโต) หลังจากลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะจนถึงต้นสมัยเมจิ (ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19) ในที่สุดก็ทำสำเร็จ การทำผักดองจะใช้ผัก 7 ชนิดอันประกอบด้วยหัวไชเท้า มะเขือม่วง ถั่วพร้าเมล็ดแดง รากบัว แตง ชิโซะ หัวผักกาด ผักดองนี้ตั้งชื่อตามยานากาชิจิฟูกูจินหรือที่เรียกกันว่าศาลเจ้ายานากาที่บวงสรวงเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้ง 7 ผู้คนมักนิยมนำผักดองฟูกูจินซูเกะไปรับประทานเป็นเครื่องเคียงกับข้าวราดแกงกะหรี่ (curried rice)

เบ็ตตาราซูเกะกับโตเกียวทากูอันซึเกะ

เบ็ตตาราซูเกะเป็นผักดองประเภทหนึ่ง ทำจากหัวไชเท้าดองเกลือ วิธีทำคือเอาหัวไชเท้าที่ผ่านการล้างน้ำและตากจนแห้งไปดองกับน้ำที่ผสมข้าวโคจิ น้ำตาล และมิริน (เหล้าหวาน) วิธีทำทากูอันซึเกะแบบดั้งเดิมคือใช้หัวไชเท้าตากแห้งโดยธรรมชาติไปดองเกลือรำข้าว แต่หลังจากเริ่มได้รับความนิยมในช่วงปลายสมัยไทโชกับต้นสมัยโชวะ (ปี 1920) เริ่มหันมาใช้หัวไชเท้าดองเกลือแทน และยิ่งผลิตมากก็ยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการขนานนามว่าโตเกียว ทากูอันซึเกะ

เอโดะอามามิโซะ

มิโซะเป็นอาหารหมักที่ทำมาจากถั่วเหลืองนึ่งบดกับเกลือและข้าวโคจิ สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน และถือเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงรสที่ขาดไม่ได้สำหรับอาหารญี่ปุ่น โดยโคจิจะขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นว่าจะทำจากข้าวสาลี ถั่ว หรือข้าว สำหรับเอโดะอามามิโซะจะใช้ข้าวโคจิ เมื่อเทียบกับมิโซะที่มีรสเค็มนำแบบเซนไดมิโซะและชินชูมิโซะแล้ว เอโดะอามามิโซะจะผสมเกลือครึ่งหนึ่งและข้าวโคจิ 2 เท่า ทำให้ได้รสหวานมาก ด้วยเหตุนี้เวลาที่ใช้ในการหมักและระยะเวลาในการเก็บรักษาจึงสั้นลงตามไปด้วย

วาซาบิ

ย่านโอคุทามะมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นที่รู้กันดีด้วยว่าเป็นแหล่งที่มีน้ำธรรมชาติคุณภาพดี วาซาบิของโอคุทามะเติบโตมาด้วยน้ำจากแหล่งน้ำผุดอันแสนบริสุทธิ์ของท้องถิ่น โดยอุณหภูมิของน้ำจะถูกรักษาให้คงที่จนเกือบเท่ากันตลอดทั้งปี สวนเกษตรวาซาบิมีมาตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ (ศตวรรษที่ 14) และโอคุทามะเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นหนึ่งใน 3 ของแหล่งปลูกวาซาบิที่ใหญ่ในญี่ปุ่นร่วมกับชิซึโอกะและยามานาชิด้วย แม้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่งจึงจะเก็บเกี่ยวได้ แต่วาซาบิของโอคุทามะเป็นที่รู้จักกันดีในด้านกลิ่นแรงและความเข้มข้น

ปลาแม่น้ำกับการเก็บของในป่า

ย่านโอคุทามะที่เรียกกันว่า “สวนส่วนในของโตเกียว” เต็มไปด้วยธรรมชาติที่มีทั้งต้นไม้สวยงามและหุบเขา อีกทั้งยังมีลักษณะเด่นที่ต่างจากเมืองหลวงด้วย แถวนี้มีปลาน้ำจืด อาทิ ปลายามาเมะ ปลามาซุ (trout) ปลาอายุ ปลาฮายะ (บ้างก็เรียกว่าปลาอูกูอิ) เป็นต้น อาศัยอยู่ตามแม่น้ำท้องถิ่น เช่น แม่น้ำทามะ แม่น้ำอะคิ และแม่น้ำนิปปาระ เป็นต้น นอกจากนั้น สถานที่เหล่านี้ยังมีบริการร้านอาหารพื้นบ้านด้วย ในฤดูใบไม้ผลิจะเจอพืชป่าทานได้ เช่น วาบิระ เซ็มไม ทาราโนเมะ เป็นต้น ส่วนเห็ด เกาลัดและลูกพลับ คือตัวอย่างบางส่วนของผลผลิตในฤดูใบไม้ร่วงที่สามารถเก็บได้ในภูเขาย่านนี้

บ๊วยดอง

บ๊วยดองคือบ๊วยที่ถูกนำไปผึ่งแดดแล้วเอาไปดองเกลือ เนื่องจากบ๊วยดองเป็นอาหารที่มีอัลคาไลน์ ไดเอต ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานเพื่อสุขภาพมาช้านาน บ๊วยดองเป็นผลิตภัณฑ์พิเศษของอำเภอโออุเมะ และโออุเมะเป็นที่รู้จักในเรื่องความงามของต้นบ๊วย 25,000 ต้น ช่วงที่ดอกบ๊วยบานสะพรั่งในต้นฤดูใบไม้ผลิ ที่นี่จะสวยจนสามารถดึงดูดผู้คนให้มาเยือนเป็นจำนวนมาก

คอนเนียคุ

คอนเนียคุคือเค้กมันมีลักษณะคล้ายเยลลี่ มีเนื้อสัมผัสที่ไม่เหมือนใคร ทำจากหัวมันคอนเนียคุผสมด้วยน้ำจากธรรมชาติ แล้วเติมสารทำให้แข็งตัว เช่น หินปูน ลงไปเพื่อทำให้แข็งตัวแบบนุ่มนวล ในย่านทามะจะทำคอนเนียคุด้วยหัวมันคอนเนียคุที่ปลูกในท้องถิ่นและน้ำคุณภาพดีจากแม่น้ำอากิกาวะ

ชาโตเกียวซายามะ

ย่านเขตรอยต่อของโตเกียวกับไซตามะ รวมถึงอำเภอมุซาชิมูรายามะ ตำบลมิซูโฮะ และอำเภอฮิงาชิยามาโตะ เป็นที่รู้จักกันในฐานะเขตปลูกชาเขียวคุณภาพดีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ประเภทของชาที่ผลิตในย่านนี้ทั้งหมดโดยปกติจะเรียกรวมกันว่าชาซายามะ ชาที่ปลูกในโตเกียวเริ่มถูกเรียกเป็นพิเศษว่าชาโตเกียวซายามะตั้งแต่ช่วงกลางสมัยโชวะ (ช่วงปี 1950) เพื่อแยกชาที่ปลูกในโตเกียวกับชาที่ปลูกในไซตามะออกจากกัน ชาโตเกียวซายามะมีช่วงเก็บเกี่ยว 2 ครั้งคือฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน มีจำนวนน้อยกว่าแหล่งผลิตชาอื่นๆ ของญี่ปุ่น แต่ได้รับคำกล่าวขานว่าเป็นชาที่มีความเข้มข้นและให้รสชาติที่ดียิ่งกว่า

คูซายะ

คูซายะเป็นปลาตากแห้งประเภทหนึ่งที่ทำในเกาะนิอิจิมะกับเกาะฮาจิโจจิมะของอิซุ และเกาะจิจิจิมะของหมู่เกาะโอกาซาวาระเป็นหลัก วิธีทำคูซายะคือ ขั้นแรกจะนำปลาไปหมักในน้ำคูซายะที่ทำมาจากปลาก่อน จากนั้นค่อยนำไปตากแห้ง ผลคือทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวที่มีทั้งคนชอบและคนเกลียด คูซายะจะมีกลิ่นแรงขึ้นเมื่อนำไปย่าง จึงมีแบบย่างแล้วเป็นแพ็กเกจขายด้วย

ใบอาชิตาบะ

ใบอาชิตาบะคือยาสมุนไพรประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นที่มีลักษณะคล้ายตังกุย ชื่อเรียกของใบนี้มีความหมายตรงตัวคือ “ใบวันพรุ่งนี้” บ่งบอกว่าเป็นพืชที่มีพลังชีวิตเยอะ แม้วันนี้จะถูกเด็ดใบไป วันรุ่งขึ้นจะงอกใบใหม่ออกมาอีก เป็นพืชที่อยู่บนเกาะฮาจิโจจิมะ ประสิทธิภาพทางยาเป็นที่รู้กันมาตั้งแต่สมัยเอโดะ จะอร่อยมากเมื่อเอามาทานเป็นเทมปุระ ผัด หรือใส่ลงไปในซุปมิโซะ

น้ำมันดอกสึบากิ

ดอกสึบากิเป็นผลิตภัณฑ์พิเศษของเกาะโอชิมะ เป็นการสกัดเอาน้ำมันสึบากิคุณภาพดีจากเมล็ด เมื่อเทียบกับน้ำมันพืชอื่นๆ แล้ว น้ำมันดอกสึบากิจะมีกรดโอเลอิกสูงที่สุด โดยกล่าวกันว่าสามารถลดคอเลสเทอรอลชนิดที่ไม่ดีในเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่รู้จักกันดีคือเป็นน้ำมันที่เหมาะที่สุดกับเทมปุระ สำหรับการใช้ทอดให้แป้งที่หุ้มกรุบกรอบเบาๆ

ผลไม้เขตร้อน

หมู่เกาะโอกาซาวาระอยู่ห่างลงไปทางใต้จากเมืองหลวงบนแผ่นดินใหญ่ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งผลิตผลไม้เขตร้อน มีตั้งแต่กล้วยและส้มไปจนถึงมะละกอ เมลอนและมะม่วง รสชาติที่สดใหม่ของผลไม้เหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากมาย และนอกจากนั้นโอกาซาวาระยังต่างจากภูมิภาคอื่นในญี่ปุ่นตรงที่เป็นแหล่งผลิตกาแฟด้วย

ผลิตภัณฑ์นม

แม้แต่ในหมู่เกาะจำนวนมากของโตเกียว ตามเกาะใหญ่ๆ เช่น เกาะโอชิมะกับเกาะฮาจิโจจิมะของหมู่เกาะอิซุ เป็นต้น มีการทำฟาร์มโคนมและทำผลิตภัณฑ์จากนมสดๆ เช่น น้ำนมวัวหรือเนย นอกจากนั้นยังใช้ทำผลิตภัณฑ์พิเศษในท้องถิ่น อย่างเช่น นำผลไม้เขตร้อนหรือใบอาชิตาบะมาทำเป็นไอศกรีมด้วย

นิงเงียวยากิ

นิงเงียวยากิเป็นขนมเค้กขนาดเล็ก วิธีทำคือนำน้ำแป้งข้าวสาลี ไข่และน้ำตาลเทลงไปแม่พิมพ์เหล็กสำหรับอบ มีขายทั้งแบบไม่ใส่อังโกะ (ถั่วหวานกวน) และแบบใส่อังโกะ นิงเงียวยากิส่วนใหญ่จะเป็นรูปเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้ง 7 (เทพเจ้านำความโชคดี 7 องค์) หรือประตูอาซากุสะ คามินาริมง และโคมไฟใหญ่ แต่รูปตัวละครทีวีสำหรับเด็กก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เค้กนี้ตั้งชื่อตามชื่อย่านตำบลนิฮงบาชินิงเงียวเขตจูโอ ถิ่นกำเนิดของเค้ก และเป็นขนมของฝากยอดนิยมของโตเกียว

คามินาริ โอโกชิ

คามินาริ โอโกชิ คือขนมที่ดังในเรื่องผิวสัมผัสที่กรุบกรอบ ขนมที่เคยวางขายข้างถนนใกล้ประตูคามินาริมงของอาซากุสะในช่วงกลางสมัยเอโดะ (ศตวรรษที่ 18) คามินาริ เป็นขนมที่ผสมถั่วลิสงหรือวัตถุดิบอื่นใส่ลงไปบน “โอโกชิ” ที่มาจากการเอาข้าวที่นึ่งแล้วไปคั่วจนพอง จากนั้นราดด้วยน้ำตาลและน้ำเชื่อมเพื่อให้แข็งเป็นรูปร่าง แล้วหั่นขนาดพอดีคำ กล่าวกันว่าชื่อ “โอโกชิ” มาจากคำกริยา “โอโกซุ หรือ ปลุก” ของภาษาญี่ปุ่น หมายถึง “การสร้าง” ชื่อหรือบ้าน ด้วยเหตุนี้ขนมนี้จึงถูกมองเหมือนเป็นเครื่องราง ทุกวันนี้เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในของฝากยอดนิยมจากอาซากุสะ

อาหารและเครื่องดื่ม

ชมทั้งหมด

งานฝีมือแบบดั้งเดิม

ชมทั้งหมด

ทำความรู้จัก